พีช..ผลไม้รสฉ่ำ เกินห้ามใจ
แท้จริงแล้วสายพันธุ์พีชมีกี่แบบนะ
หากกล่าวถึง พีช ผลไม้กลิ่นหอม รสฉ่ำ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงพีชญี่ปุ่น เพราะได้รับความนิยมมากในประเทศไทย จนบางคนเผลอคิดว่าพีชเป็นผลไม้ประจำชาติของญี่ปุ่นเลยก็มี อันที่จริงแล้วสายพันธุ์พีชนั้นมากมายมีปลูกในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่มีอากาศหนาวเย็น
แต่ถ้าจะให้ย้อนไปถึงถิ่นกำเนิด พบว่าพีชมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จากนั้นค่อยแพร่กระจายเข้าสู่เปอร์เซีย, ยุโรป, อเมริกา รวมถึงออสเตรเลีย โดยที่อเมริกานั้นถูกนำไปปลูกในศตวรรษที่ 16 ที่รัฐจอร์เจีย, แคโรไลนา, แคลิฟอร์เนีย และ นิวเจอร์ซี่ แต่ที่หวานอร่อยขึ้นชื่อนี่มาจากรัฐจอร์เจีย และแคโรไลนา
ในส่วนของเอเชีย นอกจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน แล้วพบว่ามีการปลูกพีชในพม่า และไทยตอนบนด้วย
รู้จักลูกพีช
ลูกพีชนั้นมีหลายชนิด หลายสายพันธุ์ แต่แบ่งสายพันธุ์พีชเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามสีของเนื้อในได้เป็น 2 กลุ่มคือ พีชขาวกับพีชเหลือง
พีชขาว (White peach)
ที่เรียกว่าพีชขาวเพราะเนื้อในของลูกพีชชนิดนี้มีสีขาว โดยเปลือกนอกมักจะเป็นสีชมพู สีเหลืองอ่อน หรือขาวอมชมพู เนื้อของลูกพีชขาวมักจะนิ่ม กลิ่นหอมละมุน และมีรสหวานนำ นิยมรับประทานสด
พีชเหลือง (Yellow Peach)
พีชชนิดนี้เนื้อมีสีเหลืองแน่นกรอบ รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอมหวาน นิยมนำไปแปรรูปมากกว่ารับประทานสด
นอกจากพีชสายพันธุ์ต่างๆที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ แล้ว ยังมีพีชอีกชนิดหนึ่งที่หน้าตาแปลกกว่าผองเพื่อนอยู่สักหน่อย นั่นคือ
พีชโดนัท (Saturn Peach)
ที่เรียกว่า พีชโดนัท เพราะว่ามีรูปร่างกลมๆ แบนๆ คล้ายกับโดนัท พีชชนิดนี้รสชาติหวาน กลิ่นหอมมากๆ นิยมรับประทานสด ทำแยม วิสกิต ไวน์ แชมเปน บรั่นดี
เนคทารีน (Nectarine)
เวลาที่หาซื้อลูกพีช อาจจะไปเจอเนคทารีนเข้า เนคทารีนเป็นผลไม้เมืองหนาวอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกับพีช เพราะกลายพันธุ์มาจากพีชนั่นเอง ผลไม้ทั้งสองชนิดนี้จึงมีลักษณะคล้ายกันมาก ทั้งในด้านลักษณะภายนอกและคุณค่าทางอาหาร ข้อแตกต่างที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ เปลือกผลเนคทารีนจะเรียบเป็นมันเงา ไม่มีขนกำมะหยี่คลุมเปลือกเหมือนกับพีช
ลูกพีช vs ลูกท้อ
มีคนสงสัยว่า เอ...ลูกพีชกับลูกท้อ นี่มันคือผลไม้ชนิดเดียวกันหรือเปล่า คำตอบก็คือ ชนิดเดียวกันจ้ะ เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันเท่านั้นเอง
ในประเทศไทยก็มี "พีช" นะ
"พีช" ที่ปลูกในไทยเริ่มต้นจากชาวเขาที่อพยพลงมาจากจีนได้นำเมล็ดลูกพีชจากจีนตอนล่างเข้ามา ต่อมาพีชเหล่านั้นได้กลายเป็นท้อพันธุ์พื้นเมืองที่พบทั่วไปบนพื้นที่สูงของประเทศไทย มีชื่อพันธุ์ว่า "แปะมุงท้อ" และ "อ่างขางแดง" ท้อพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้มีผลขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพันธุ์ต่างประเทศ ช่วงหลังได้มีการพัฒนาพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรโดยนำพีชพันธุ์ต่างประเทศที่มีผลขนาดใหญ่และให้ผลผลิตสูงเข้ามาปลูก อย่างเช่น พันธุ์ Flordasun, พันธุ์ Flordared, พันธุ์ Flordabelle, พันธุ์ Earligrande และพันธุ์ Ying Ku จากไต้หวัน ทำให้ได้ลูกพีชที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีพีชที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ทําการศึกษาวิจัยในโครงการ การศึกษาวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อปลูกทดแทนฝิ่น ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 โดยในปีพ.ศ.2540 ได้เริ่มมีโครงการนําพันธุ์พีชจากต่างประเทศมาปลูกทดสอบเพื่อคัดเลือกพันธุ์ดีสําหรับประเทศไทย และสามารถคัดเลือกพีชสายพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ได้ 4 พันธุ์ คือ
- พันธุ์ Earligrande มีรสชาติหวานนำ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ จึงเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทย เหมาะรับประทานสด พันธุ์นี้มีจะงอยที่ก้นผลเด่นชัด น้ำหนักผลประมาณ 150-250 กรัม
- พันธุ์ Tropic Beauty มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่นกรอบ เหมาะรับประทานสด ผลกลม ก้นผลไม่มีจะงอย น้ำหนักผลประมาณ 125-200 กรัม
- พันธุ์ Jade เหมาะนำไปแปรรูป เช่น พีชลอยแก้ว แต่ก็สามารถรับประทานผลสดได้ มีผลค่อนข้างใหญ่ เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่น ทรงผลค่อนข้างกลม น้ำหนักผลประมาณ 150-250 กรัม
- พันธุ์ อำพันอ่างขาง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลกลม ก้นผลไม่มีจะงอย เนื้อสีเหลืองอำพัน ฉ่ำน้ำ ไม่เละ เหมาะรับประทานสด น้ำหนักผลประมาณ 125-200 กรัม
พีชของโครงการหลวงจะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ดังนั้นใครอยากรับประทานพีชสดขอแนะนำให้ไปส่องตามร้านซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงในช่วงเวลาดังกล่าว หรือถ้าอยากจะรับประทานพีชสายพันธุ์ต่างประเทศปัจจุบันก็มีแหล่งจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งตามร้านที่จำหน่ายผลไม้ต่างประเทศ หรือตามเว็บไซต์ ตามเพจต่างๆ เรียกได้ว่าอยากรับประทานพีชพันธุ์ไหนก็สามารถสั่งได้ดั่งใจเลยทีเดียว
เขาว่ากันว่า พีชนั้นรับประทานสดๆ หลังจากที่เด็ดลงมาจากต้นจะอร่อยที่สุด ดังนั้นหากใครมีโอกาสไปเที่ยวตามประเทศที่ปลูกพีช อย่าลืมเพิ่มกิจกรรม เที่ยวสวนพีชพร้อมเก็บพีชสดๆ ลงไปในโปรแกรมการท่องเที่ยวของคุณด้วยนะ แล้วคุณจะติดใจกับรสชาติของพีชที่หอมหวานสดใหม่ไปอีกนาน